วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลกินเจ


ประเพณีการกินเจ หรือ เทศกาลกินเจ จะกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุก ๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน โดยผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ กินเพื่อสุขภาพ, กินด้วยจิตเมตตา และกินเพื่อเว้นกรรม 
ประเพณีกินเจก็คือประเพณีกินผัก หรือที่เรียกว่า มังสวิรัติ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าของ ชาวจีน ที่ถึงจะย้ายถิ่น ฐานไปอยู่ในประเทศใด ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติตามประเพณีนี้อยู่

สำหรับ ประเทศไทยที่มีชาวจีนมาตั้งรกรากอยู่จำนวนไม่น้อย ปัจจุบันกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ก็ยังยึดถือประเพณีกินเจเช่นกัน ประเพณีกินเจในประเทศไทยที่ผู้คนรู้จักกันดีก็คือ ที่จังหวัดภูเก็ต ที่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยปีแล้ว โดยแพร่หลาย มาจากคณะงิ้วประเทศจีนที่มาแสดงให้ชาวจีนในภูเก็ตดู การกินเจในปัจจุบันมิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อจะป้องกัน ภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์และเป็นการเคารพถึงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป
แล้ว .........ในช่วงเทศกาลกินเจมีข้อห้ามที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานอยู่หลายข้อ เชื่อกันว่าถ้าปฏิบัติได้ครบทุกข้อจึงจะเข้า ถึงการกินเจที่ถูกต้องและ ได้บุญอย่างแท้จริง จึงขอยกข้อห้ามทั้ง 10 ข้อในเทศกาลกินเจมาเล่าให้ฟังกัน จะว่าเป็น การไขข้อข้องใจกันก็ได้ เพราะเชื่อว่าบางข้อยัง เป็นที่สงสัยกันอยู่ เริ่มที่

ข้อแรก การงดกินผักฉุนหรือผักที่มีกลิ่นแรง ซึ่งประกอบไปด้วยพืชผัก 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม (หัวกระเทียม, ต้นกระเทียม) หัวหอม (ต้นหอม, ใบหอม, หอมแดง,หอมขาว,หอมหัวใหญ่) หลักเกียว (ลักษณะคล้าย หัวกระเทียม แต่เล็กกว่า) กุ้ยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า) ใบยาสูบ (บุหรี่,ยาเส้น,ของเสพติดมึนเมา) ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยัง ให้โทษทำลายพลังธาตุในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลัก สำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานไม่ควรรับประทาน พราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์ กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้เร่าร้อน ใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวไม่ติด จิตใจจะไม่บริสุทธิ์ ซึ่งในข้อห้ามนี้มีบางคนยังข้องใจกันมาก คือ กระเทียมซึ่งทางการแพทย์และเภสัชกรพบว่า สามารถรับประทานเป็นยาได้ ทั้งนี้เพราะเป็นสารที่มีประโยชน์สามารถละลายไขมันในเส้นเลือดได้ เช่น ผู้ป่วยที่ เป็นโรคเส้นโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เป็นต้น แม้ทางการแพทย์แผนโบราณก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมเป็น สมุนไพรรักษาโรคได้ แต่คนจีนที่ปฏิบัติในการกินเจถือว่าให้โทณกับหัวใจ ซึ่งในข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อของ แต่ละคน

ข้อที่สอง การงดกินเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบไปด้วย เนื้อวัว หมู ปลา หรือสัตว์มีชีวิตที่ใช้เป็น อาหารได้ เพราะ คนจีนเชื่อว่าก่อนตายมันจะตกอยู่ในอาหารตกใจกลัวเมื่อเรากินมันเข้าไป อาจจะทำให้เรามีบาปติดตัวไปด้วย เพราะมันคือสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับคน ข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนจีนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่มาถึงปัจจุบัน ..........บางคนเริ่มหาข้อคัดค้านว่าสัตว์บางชนิดอย่าง หอยหรือปลาเล็กๆ ก็น่าจะรับประทานได้เพราะมันเป็นสัตว์ไม่มีเลือด ตามความเชื่อแล้วมันขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้ว คนจีนเขาเชื่อว่าประเพณีนี้ศักดิ์สิทธิ์ถ้าปฏิบัติ ให่เคร่งครัด ถึงจะมีคนคัดค้านแต่กับข้อนี้คงไม่ได้ผล

ข้อที่สาม ไม่ควรกินอาหารรสจัด ซึ่งไม่ใช่แค่รสเผ็ดอย่างเดียว รวมไปถึงรสเค็มมาก หวานมากหรือเปรี้ยวมาก ด้วย ซึ่งปกติคนจีนจะไม่กินรสจัดอยู่แล้วเพราะถือว่าจะเข้าไปทำลายสุขภาพ อย่างกินเผ็ดจัดก็จะไปทำลาย กระเพาะ กินเค็มมากจะไปทำลายไตได้ และอีกอย่างน้ำปลาก็ทำมาจากสัตว์เหมือนกัน ข้อห้ามนี้ถือว่าถูกหลักของ การแพทย์ แต่บางคนที่ปฏิบัติไม่เคร่งครัดนัก เช่น ชอบรสเค็มจัดก็ใช้เกลือแทนน้ำปลา อันนี้ถือว่าไม่ผิด 


ข้อที่สี่ ต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันปรุง ซึ่งข้อนี้ถ้าปฏิบัติได้จะถือว่าบริสุทธิ์จริงๆ แต่ถ้าทำให้เกิดความยาก ลำบากก็ไม่จำเป็น จะได้ไม่ต้องเลือกร้านกันจ้าละหวั่น ฉะนั้นคนที่ปรุงอาจจะไม่ได้กินเจก็ได้แต่ขอให้อาหารที่กินเข้า ไปเป็นอาหารเจก็พอ 

ข้อที่ห้า ถ้วยชามจะต้องไม่ปนกัน เพราะเขาถือเคร่งครัดว่าอาหารคาวซึ่งชาวจีนเรียกว่า " ชอ " นั้น ถ้วยชาม จะใช้ปนกันไม่ได้ จะถือว่าล้างสะอาดหมดจดแล้วจึงเอามาใช้ก็ผิดอีก บางคนคิดว่าล้างให้สะอาดมากๆ ก็ไม่จำเป็น ต้องแยก แต่ข้อนี้ถือว่าเป็นธรรมเนียมเหมือนอย่างอิสลามที่ไม่ยอม ใช้ถ้วยชามปนกัน เหมือนของจีนนั่นแหละ

ข้อที่หก ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ข้อนี้ตรงกับการรักษาศีลของชาวพุทธ การฆ่าสัตว์ของชาวจีนตั้งแต่สัตว์เล็กๆ ไป จนถึงสัตว์ใหญ่เป็นข้อเคร่งครัดเช่นกัน บางคนสงสัยอีกว่าอย่างถ้าเป็นยุงหรือมดฆ่าได้ไหมตามความเชื่อแล้วห้าม เด็ดขาดไม่เช่นนั้นจะถือว่า ปฏิบัติไม่ครบ

ข้อที่เจ็ด แต่งกายด้วยชุดขาว ข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็ใส่ชุดสีขาวตลอดจนถึงออกเจเพราะเชื่อกัน ว่านอกจากงดอาหาร ต่างๆ ในร่างกายสะอาดแล้วภายนอกแม่จะเป็นเครื่องแต่งกายก็ต้องสะอาดด้วย ข้อนี้ไม่ใคร่ เข้มงวดสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปที่แจตั๊วหรือสถานที่ทำพิธีกินเจ

ข้อที่แป
 พูดจาไพ
เราะ คนที่ถือศีลกินเจไม่ใช่เพียงแต่กินของสะอาดเท่านั้น แต่คำพูดที่พูดออก จากปากก็ต้อง สะอาดด้วย สิ่งไม่ดีทั้งหลายไมควรพูดหรือที่เรียกว่า " ปากเจ " ซึ่งประกอบไปด้วย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุแหย่ ไม่พูด เพ้อเจ้อ ถ้าปฏิบัติได้ก็ถือว่าสะอาดทั้งหมด

ข้อที่เก้า งดดื่มสุราและของมึนเมา ตลอดช่วงเวลา 9 วัน ..........ข้อนี้สำคัญเพราะการงดอาหารที่เป็นของคาวแล้วสิ่ง ที่สร้างความมึนเมาหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายก็ห้ามเข้าสู่ร่างกายด้วย

ข้อที่สิบ ห้ามดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง คนที่จะไปกินเจมักจะไปชุมนุมกันที่แจตั๊วหรือสถานที่กินเจ ณ ที่นั้น เขาจะประดับดอกไม้ตั้งโต๊ะบูชา วางกระถางธูปและตั้งเครื่องเจ ต่างๆ นอกจากนี้ ก็จุดโคม 9 ดวงเพื่อสมมติเป็น " เก๊าฮ้วงฮุดโจ้ว " นั่นเอง ซึ่งจะต้องจุดไว้ทั้งกลางวันและ กลางคืนจนตลอดงานทีเดียว ถ้าดับโคมไฟดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคลและไม่ครบถ้วนพิธีการกินเจ…

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อห้ามในการกินเจใครจะ ปฏิบัติตามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของตัวเอง ประเพณีกินเจโดยทั่วไปแล้วมิได้ทำกันตลอดทั้งปี แต่จะเริ่มกินในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ จนถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งตก ในเดือน 11 ข้างไทยเป็นวันกินเจ ซึ่งจะสับเปลี่ยนเวียนไปตามปีนั้นๆ ใครที่ไม่ได้เป็นลูกหลานชาวจีนถ้าต้องการจะ มีร่างกายและจิตใจ ที่บริสุทธิ์และได้ทำบุญกุศลอาจจะอยากเข้าร่วมพิธีนี้ด้วยก็ได้ เป็นการดีเสียอีกที่ปีหนึ่งคนเรา หันมาทำบุญร่วมกัน
 

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันชาติจีน


วันชาติจีน
       คำว่า “กั๋วชิ่ง(国庆)” ในภาษาจีนหมายถึง กิจกรรมเฉลิมฉลองการสถาปนาประเทศ ปรากฏครั้งแรกในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก (西晋) ทั้งนี้ สามารถสืบค้นได้จากผลงานประพันธ์ของลู่จี (陆机) นักประพันธ์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคดังกล่าว อย่างไรก็ดี การเฉลิมฉลองวันชาติที่นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ กลับไม่ได้มีความสลักสำคัญเท่ากับวันพระราชสมภพ (诞辰) และวันขึ้นครองราชย์(登位) ของกษัตริย์แต่อย่างใด (ในสมัยราชวงศ์ชิงถึงกับขนานนามวันพระราชสมภพว่าเป็น “เทศกาลหมื่นปี” 万岁节) ดังนั้น ชาวจีนโบราณจึงรวมเรียกวันที่กษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์และวันพระราชสมภพว่าเป็น “วันชาติจีน” ขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (中华人民共和国) กลับยึดเอาวันสถาปนาประเทศเป็นวันชาติโดยถือเอาวันที่ 1 เดือนตุลาคมของทุกปี
       ก่อนที่จะมีการกำหนดวันดังกล่าวให้เป็นวันชาติจีนใหม่ ทางคณะรัฐบาลยุคนั้นซึ่งนำโดยประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตง      (毛泽东) ได้เตรียมการหลายอย่างเพื่อการนี้ จึงเป็นที่มาของสัญลักษณ์ธงประจำชาติ พิธีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสาที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน (天安门广场) ตลอดจนเพลงชาติและพิธีกรรมต่างๆ ที่ผู้นำจีนใหม่ทุกยุคทุกสมัยล้วนปฏิบัติสืบต่อกันเป็นธรรมเนียม
       เริ่มจากวันที่ 6–8 เดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1949 คณะรัฐบาลกลางร่วมประชุมกันที่เนินเขาซีป๋อ (西柏) ตำบลผิงซาน(平山县) มณฑลเหอเป่ย (河北省) การประชุมในครั้งนั้นมีผู้เสนอญัตติให้มีแถลงการณ์สถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเพื่อร่วมร่างนโยบายบริหารประเทศ นำไปสู่การเปิดประชุมวิสามัญครั้งแรกของคณะบริหารประเทศ ณ กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 21–29 เดือนกันยายนปีเดียวกัน จากนั้น จึงมีการกำหนดร่างกฎหมายของคณะรัฐบาลให้มีการกำหนดเมืองหลวงของประเทศ (国都) ธงประจำชาติ (国旗)เพลงชาติ (国歌)ตลอดจนการเริ่มใช้ศักราชจีนใหม่ (纪年) โดยที่ประชุมลงมติให้เหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำรัฐบาล และมีจูเต๋อ (朱德) หลิวเซ่าฉี (刘少奇) ซ่งชิ่งหลิง (宋庆龄) หลี่จี้เซิน (李济深)จางหลัน (张澜) และเกากั่งเหวย (高岗为) ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี พร้อมกันนี้ยังมีการเลือกคณะกรรมการบริหารประเทศจำนวน 180 คน
       ทั้งนี้ กว่าที่จะมีการกำหนดใช้ธง 5 ดาวบนพื้นสีแดงดังในปัจจุบัน ทางคณะกรรมการได้เคยประกาศให้ประชาชนทั่วไปส่งผลงานการออกแบบธงชาติจีนตามความคิดของตนโดยไม่มีการกำหนดข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น ผลปรากฏว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาจากผลงานที่เข้ารอบแล้ว ต่างลงความเห็นว่า ธงชาติรูปที่มีด้ามเคียวและขวานบนดาวดวงใหญ่ 1 ดวงกับดาวดวงเล็กอีก 4 ดวงถือว่าเหมาะสมที่สุด แต่เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับธงชาติของประเทศสหภาพโซเวียต (苏联)ในยุคนั้นซึ่งอาจทำให้คนทั่วไปเกิดความสับสน ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะที่เป็นประเทศเอกราช ธงชาติจึงจำเป็นต้องมีความเป็นเอกเทศ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้รูปแบบของธงดังกล่าวไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะผู้จัดทำ แต่หลังจากที่เผิงกวงหาน (彭光涵)ผู้รับผิดชอบเรื่องการออกแบบธงรายงานต่อประธานเหมาฯ แล้ว ท่านกลับไม่เห็นชอบกับรูปแบบธงชนิดอื่นๆ ที่ผ่านเข้ารอบ เว้นแต่รูปแบบของธงผืนข้างต้น และเสนอให้ลบภาพเคียวและขวานออก จึงเหลือเป็นธงที่มีดาว 5 ดวงบนพื้นสีแดง จากนั้นก็เปลี่ยนมาเรียกเป็น “ธง 5 ดาวบนพื้นแดง” (五星红旗)
       ขณะที่ “เพลงมาร์ชทหารหาญ” (义勇军进行曲) หรือเพลงชาติของจีนปรากฏครั้งแรกในปี ค.ศ. 1935 โดยมีเถียนฮั่น(田汉) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องและเนี่ยเอ่อ (聂耳) เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง เดิมทีใช้เป็นเพลงนำภาพยนตร์เรื่อง “เฟิง อวิ๋นเอ๋อร์หนี่ว์” (风云儿女) ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังวันที่ 18 กันยายน เมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นเข้ายึดครองมณฑลเฮยหลงเจียง (黑龙江省) มณฑลจี๋หลิน (吉林省) และมณฑลเหลียวหนิง (辽宁省) อำนาจอธิปไตยของประเทศตะวันตกอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน หลังจากที่เถียนฮั่นเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จ กลับถูกทางรัฐบาลจับกุม แต่เนื่องจากเนี่ยเอ่อมีความมานะจึงทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉาย หลังจากนั้นไม่นาน เพลงปลุกใจบทนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านการรุกรานจากต่างชาติหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเหตุการณ์โค่นล้มเจียงไคเช็ก (蒋介石)และการต่อสู้เพื่ออธิปไตยของกองทัพปลดแอก (解放军建国) จนสามารถสถาปนาเป็นประเทศเอกราชที่ปกครองภายใต้ระบบสังคมนิยมในที่สุด
       จวบจนปัจจุบัน ต้นเสาที่ใช้ในการเชิญธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินนั้นผ่านการบูรณะเพิ่มเติมเพียงครั้งเดียว กล่าวคือ เสาต้นเดิมที่เหมาเจ๋อตงเป็นผู้เชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 นั้น มีความสูงเพียง 22 เมตร ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 มีการซ่อมแซมเพิ่มเติม โดยเพิ่มความสูงขึ้นเป็น 32.6 เมตร เหตุที่มีการซ่อมแซมเพิ่มเติมนั้นเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ เสาต้นเดิมผ่านการใช้งานนานนับ 42 ปี จึงเกิดการสึกกร่อน ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานั้น มีกลุ่มสิ่งปลูกสร้างที่มีความโอ่อ่าและสูงตระหง่านอย่างหอประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจีน (人民大会堂)พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (历史博物馆) และหอรำลึกเหมาเจ๋อตง (毛泽东纪念堂) ที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณจัตุรัสแห่งนี้ ส่งผลให้เสาเชิญธงต้นเดิมมีความสูงลดหลั่นจากสิ่งปลูกสร้างอื่นอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่เหล่านี้ เสาต้นใหม่ที่ผ่านการบูรณะสามารถแบ่งเป็น 3 ชั้น เริ่มจากการการปูหยกขาวที่มีความสูง 80 เซนติเมตร ล้อมรอบโคนเสาชั้นใน มีทางเดินเข้าออกด้านซ้ายและขวาที่มีความกว้างขนาด 2 เมตร ชั้นกลางปูด้วยหินลวดลายสีแดงล้อมบริเวณโคนเสาธงโดยรอบ มีความกว้าง 2 เมตรกว่า การใช้สีแดงเพื่อสื่อความหมายถึง “เลือดรักชาติของประชาชนชาวจีน” ชั้นนอกสุดเป็นพื้นสีเขียวที่มีความกว้าง 5 เมตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติภูมิแห่งมาตุภูมิ บริเวณทั้งสี่ด้านของแท่นเสาธงจะล้อมรั้วที่ทำด้วยทองเหลือง 56 อัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการร่วมมือร่วมใจของชาวจีนทั้ง 56 ชนชาติ ภายใต้ธงแดง 5 ดาวผืนนี้